พิกัด 3 วัด 3 จังหวัด “หัวมังกร ท้องมังกร หางมังกร” ไหว้ขอพร เติมพลังบุญปีมังกร

“มังกร” เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของคนจีน ซึ่งชาวจีนเชื่อกันว่าคือสัตว์ที่ทรงพลังและศักดิ์สิทธิ์แห่งฟ้าและดิน เป็นตัวแทนของพลังที่ยิ่งใหญ่แห่งธรรมชาติ พลังอำนาจสูงสุดของโลก ทั้งยังกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ ความดีงาม และอำนาจบารมี จนถือได้ว่า “มังกร” เป็นสัญลักษณ์แทนความโชคดีสูงสุดก็ว่าได้ ดังนั้นผู้คนจึงนิยมไปไหว้พระขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ กันนั่นเอง

ททท. ชวนเติมพลังบุญตลอดปี 2567 ไม่ว่าคุณจะอยู่ภาคกลางหรือจะอยู่ภาคตะวันออกก็ไปขอพร ขอโชคลาภกันที่วัดมังกรได้ !! เพราะครั้งนี้เราจะพาทุกคนไปไหว้ขอพรกันที่ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ถึง 3 แห่ง 3 จังหวัด ได้แก่ หัวมังกร ท้องมังกร และหางมังกร ให้ดวงดีกันตลอดปีมังกรเลย 

1. วัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) กรุงเทพฯ
เล่งเน่ยยี่ ถือเป็น “วัดหัวมังกร” เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2414 บนถนนเจริญกรุง ระหว่างซอยเจริญกรุง 19 และ 21 ตั้งอยู่ในแหล่งฮวงจุ้ยที่ดีมาก นั่นคือ อยู่บนถนนสายมังกรทางฝั่งของเยาวราช ย่านการค้าขายต่าง ๆ โดยตัววัดหันหน้าเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตรงตามหลักฮวงจุ้ยของหัวมังกร


สถาปัตยกรรมของวัดแห่งนี้โดดเด่นด้วยการวางผังแบบวังหลวงแต้จิ๋วโบราณ คือ มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า การสร้างใช้ไม้และอิฐเป็นวัสดุสำคัญ โดยก่อนจะเข้าสู่วิหารท้าวจตุโลกบาลหน้าประตูทางเข้าทั้งสองด้านมีป้ายคำโคลงคู่มีความหมายว่า ประทุมประทีปส่องสว่างกลางเวหา และมังกรเหินสู่สวรรค์ ณ ถิ่นนี้ วัดแห่งนี้จึงได้ชื่อว่าเปรียบดั่ง “ส่วนหัวของมังกร”

เมื่อเข้าไปภายในวิหารท้าวจตุโลกบาล จะได้พบกับเทพเจ้าที่ปกปักรักษาคุ้มครองทิศต่าง ๆ ทั้ง 4 ทิศ เป็นรูปหล่อปูนเขียนสีแต่งกายในชุดนักรบจีนถืออาวุธและสิ่งของต่าง ๆ กัน เช่น พิณ ดาบ ร่ม และเจดีย์ โดยชาวจีนเรียกว่า ซี้ไต๋เทียงอ้วง หมายถึงเทพเจ้าที่ปกปักรักษา คุ้มครอง ทิศต่าง ๆ ทั้ง 4 ทิศ นั่นเอง

ส่วนหลังคาวิหารท้าวจตุโลกบาล แสดงโครงสร้างคานขื่อตามแบบแต้จิ๋ว หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบจีนโบราณ มีการประดับตกแต่งอาคารด้วยกระเบื้องตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ประกอบด้วยลวดลายสิริมงคลตามความเชื่อจีน มีการวาดลวดลายและแกะสลักลวดลาย ปิดทองอย่างสวยงาม มีการใช้โมเสกติดผนังทั้งหมด จัดว่าเป็นสถาปัตยกรรมจีนโบราณที่มีความสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งเลยทีเดียว

ถัดจากวิหารท้าวจตุโลกบาล คือ อุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานขององค์พระประธาน 3 องค์ด้วยกัน คือ พระศากยมุนีพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าในปัจจุบันกาล (เจ้าชายสิทธัตถะ), พระอมิตาภพุทธเจ้า เชื่อว่าเป็นอดีตพระพุทธเจ้าอยู่ในดินแดนพุทธเกษตรที่เรียกว่าแดนสุขาวดี, พระไภษัชยคุรุไวฑูรย์พุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าในอดีตเช่นกัน เชื่อกันว่าท่านอยู่ในดินแดนพุทธเกษตรทางฝั่งทิศตะวันออก ตรงข้ามกับแดนสุขาวดี โดยพระพุทธเจ้าทั้งสามพระองค์นี้ เปรียบเหมือนไตรรัตน์ของฝ่ายมหายาน ด้านหลังอุโบสถมีวิหารบูรพาจารย์และเทพเจ้าต่าง ๆ ของจีน

ผู้คนที่มาไหว้พระขอพรที่นี่ ก็จะมาจุดธูปขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยเฉพาะในเรื่องของการค้าขาย ซึ่งเชื่อกันว่าจะช่วยให้การค้าขายเจริญรุ่งเรือง นอกจากนี้ ที่วัดเล่งเน่ยยี่ ก็ยังมีชื่อเสียงในเรื่องของการแก้ชง ในแต่ละปีก็จะเห็นผู้คนนิยมมาสะเดาะเคราะห์ปีชงกันเป็นจำนวนมาก

อาจารย์ คฑา ชินบัญชร กล่าวว่า ความเชื่อในการสักการะ “วัดหัวมังกร” คือ เมื่อดอกปทุมชาติเบ่งบาน มังกรขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ถ้าดอกบัวบานเมื่อไหร่ แปลว่า จิตของเราผ่องใส เข้าถึงทางธรรม ถ้าเราเข้าถึงธรรมเมื่อไหร่ชีวิตเราก็ทะยาน มีความเจริญรุ่งเรือง เราก็จะได้ทุกสิ่ง อีกเรื่องหนึ่งก็คือที่วัดนี้พรั่งพร้อมด้วยทวยเทพทั้งปวงจะช่วยเสริมเรื่องสิริมงคลได้เป็นอย่างดี

เปิดทุกวัน เวลา 06.00 – 18.00 น.
ที่ตั้ง : ถ. เจริญกรุง แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
พิกัด : https://maps.app.goo.gl/8somFzUkLsMntyZC9
Facebook Fanpage : วัดมังกรกมลาวาส 龍蓮寺
https://www.facebook.com/Wat.Mangkonkamalawat.Temple/
โทร : 02-222-3975
 

2. วัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่) ฉะเชิงเทรา



“ท้องมังกร” อยู่ที่ “วัดเล่งฮกยี่” ถือเป็นวัดจีนเพียงแห่งเดียวในฉะเชิงเทรา สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2449 ซึ่งคำว่า ฮก แปลว่าโชคลาภ วาสนา จึงมักมีคนเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดมังกรแห่งวาสนา ต่อมาเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรี เพื่อทรงเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – ฉะเชิงเทรา ก็ได้พระราชดำเนินทรงเยี่ยมวัดเล่งฮกยี่แห่งนี้ และทรงมีจิตศรัทธาพระราชทานเงินเพื่อบำรุงวัด พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า “วัดจีนประชาสโมสร” อันมีความหมายถึงว่า วัดแห่งนี้เป็นที่ชุมนุมของคนจีน โดยแบบแปลนของวัดนี้จะเป็นแบบเดียวกับวัดเล่งเน่ยยี่ กรุงเทพฯ และถูกวางตำแหน่งฮวงจุ้ยเป็นส่วนท้องของมังกรนั่นเอง

ความโดดเด่นของวัดแห่งนี้อยู่ที่พระประธาน คือ พระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ เหมือนที่วัดเล่งเน่ยยี่ แต่พิเศษตรงที่พระประธานทั้ง 3 พระองค์นี้นำเข้ามาจากเมืองจีนและสร้างขึ้นจากกระดาษทั้งสิ้น หรือที่เรียกว่า “เปเปอร์มาเช่” แล้วปิดทอง ทำให้มีน้ำหนักเบา นอกจากนี้ยังมีรูปหล่อ 18 อรหันต์ ก็ยังทำด้วยกระดาษเช่นกัน และยังเก่าแก่ราว 200 ปีอีกด้วย

ภายในวัดยังมีรูปหล่อเทพเจ้าแห่งโชคลาภ หรือ ไฉ่ซิงเอี๊ย องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผู้ที่มากราบไหว้ที่วัดเล่งฮกยี่แห่งนี้ยังนิยมขอโชคลาภ โดยท่องบทสวดของท่าน 3 ครั้ง จากนั้นนำกระเป๋าเงินของเราไปไว้ที่ปากถุงเงินของท่าน ตบก้นถุงของท่าน 3 ครั้งหลังจากนั้นลูบจากก้นถุงขึ้นมายังปากถุง 3 ครั้ง เหมือนเป็นการนำโชคลาภใส่ลงกระเป๋าของเราเอง พร้อมทั้งหยิบเหรียญขวัญถุงมา 1 เหรียญ ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการขอโชคลาภ และด้วยความเชื่อที่ว่าวัดแห่งนี้เป็นดั่งส่วนท้องของมังกร ทำให้ผู้ที่มากราบไหว้บูชาจะได้รับพลังส่งผลถึงความอุดมสมบูรณ์ทั้งพืชพรรณธัญญาหาร เจริญรุ่งเรืองมาสู่ตัวเราด้วย และก่อนจะออกจากวัดก็ต้องตีระฆังใบยักษ์หล่อจากแต่จิ๋วหนักกว่า 1 ตัน 3 ครั้งก่อน ซึ่งรอบระฆังใบนี้มีอักษรมหาปรัชญาปารมิตาสูตร ถือกันว่าผู้ใดตีระฆังก็เหมือนกับการสวดมนต์บทนี้ ซึ่งจะได้บุญได้กุศลเป็นอย่างมาก

อาจารย์ คฑา ชินบัญชร เล่าถึงความเชื่อในการสักการะว่า ท้องมังกร หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ มีเงินทองมั่งคั่ง หากใครได้มาไหว้ที่นี่ ครอบครัวจะมีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์มั่งคั่งนั่นเอง

เปิดทุกวัน เวลา 06.00 – 18.00 น.
ที่ตั้ง : ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา
พิกัด : https://maps.app.goo.gl/NbtWJRStKkXqzTeg6
Facebook Fanpage : วัดจีนประชาสโมสร-เล่งฮกยี่ จังหวัดฉะเชิงเทรา
https://www.facebook.com/Wat.Chinprachasamosorn.Lenghokyi/
โทร : 038-511-069
 

3. วัดมังกรบุปผาราม (เล่งฮั่วยี่) จันทบุรี


หางมังกรแห่งภาคตะวันออก

“หางมังกร” อยู่ที่ “วัดเล่งฮัวยี่” เป็นวัดพุทธมหายานฝ่ายจีนนิกายที่ก่อตั้งมาตั้งแต่พ.ศ. 2520 ถือเป็นวัดแห่งที่ 3 ที่สร้างต่อจากวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) ที่กรุงเทพฯ และวัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่) จังหวัดฉะเชิงเทรา โดย ฮัว แปลว่าดอกไม้ วัดแห่งนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดมังกรบุปผาราม”

ภายในวัดแห่งนี้มีทั้งซุ้มประตูวัด หอแปดเหลี่ยม รวมทั้งวิหารประดิษฐานพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ปางพันมือพันตา วิหารพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ วิหารบรรพบุรุษ ฯลฯ ที่ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมีจีนอย่างละเอียดอ่อนงดงาม นอกจากบรรยากาศที่สงบร่มรื่น ยังเป็นสถานที่ที่ชาวพุทธนิยมแวะมาสักการะ สะเดาะเคราะห์แก้ปีชง ด้วยจากการที่วัดแห่งนี้ถือเป็นส่วนหางมังกรของวัดทั้ง 3 แห่งนั่นเอง

เมื่อก้าวย่างเข้าไปภายในจะเจอกับวิหารท้าวจตุโลกบาลเช่นเดียวกับวัดส่วนหัวและส่วนท้องมังกร และเมื่อผ่านวิหารท้าวจตุโลกบาลเข้ามา ก็จะเห็นอุโบสถสถาปัตยกรรมจีนหลังคาซ้อน 3 ชั้น ยอดเป็นรูปเจดีย์ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระประธานพุทธเจ้า 3 พระองค์สีทองอร่ามเช่นเดียวกับวัดทั้ง 2 ที่ผ่านมา พร้อมด้วยพระสาวกเบื้องซ้ายและขวา คือพระมหากัสสปะ และพระอานนท์ ส่วนด้านข้างประดิษฐานพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ผู้เป็นเลิศด้วยมหาปัญญาประทับบนหลังสิงโต อันหมายถึงพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทรงมีพระปัญญาคุณเลิศกว่าหมู่สรรพสัตว์ และพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ผู้เป็นเลิศด้วยมหาจริยาประทับบนหลังช้างเผือกหกงา หมายถึงบารมีหกที่พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายบำเพ็ญ

โดยรูปเคารพทั้งหลายปิดทองคำเปลวเหลืองอร่ามประดิษฐานภายในซุ้มแบบจีนบนฐานชุกชี ภายในมีลวดลายไม้แกะสลักปิดทองแบบศิลปะจีนอย่างสวยงาม ด้านบนยังมีรูปเคารพเทพเจ้าอีกหลายองค์ให้เคารพบูชาอีกด้วย

อาจารย์ คฑา ชินบัญชร กล่าวถึงความเชื่อไว้ว่า “เล่งฮัวยี่” เปรียบดั่งสวนสวรรค์ของมังกร ใครได้กราบไหว้จะเสริมให้เรามีสมบัติพัสถาน ครอบครัวมีความอบอุ่นบริบูรณ์ “เล่งเน่ยยี่” ก็คือธุรกิจ “เล่งฮกยี่” ก็คือมีกินมีใช้ มีทรัพย์สิน “เล่งฮัวยี่” ก็จะมีครอบครัวที่มีความสุข ฉะนั้น ใครที่เดินทางมาตั้งแต่ เล่งเน่ยยี่ เล่งฮกยี่ จนถึง เล่งฮัวยี่ ที่ตั้งอยู่ตรงทางไปน้ำตกพริ้ว จังหวัดจันทบุรี ก็ถือว่าเดินทางครบตามเส้นทาง ตามรอยมังกรครบถ้วนสมบูรณ์ ขอพรองค์เทพ ไท้ส่วยเอี้ย และ ไฉ่ซิงเอี้ย ซึ่งยังมีเทพเจ้าต่าง ๆ ในจีนนิกายรวมไปถึงในทางเต๋า ก็ถือว่าเป็นสิริมงคลกับชีวิต สำหรับการ ไหว้ตรุษจีนแล้ว เมื่อได้เดินตามรอยมังกรทั้ง 3 วัดก็เปรียบเหมือนการเข้าถึงซึ่งธรรมะ คิดดี พูดดี ทำดี และหากทำได้เช่นนี้ไม่ว่าวันไหน ๆ เราก็จะมีความสุขได้

เปิดทุกวัน เวลา 06.00 – 18.00 น.
ที่ตั้ง : ตำบลพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
พิกัด : https://maps.app.goo.gl/qxb6wQnRfDsdDcBf6
Facebook Fanpage : วัดมังกรบุปผาราม 龍華禪寺
https://www.facebook.com/longhuachansi
โทร : 081-939-7559

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *